พลังงานแสงอาทิตย์
หลักการผลิตกระแสไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์นั้นต่างจากหลักการทำ งานของโรงไฟฟ้าทั่วไป เพราะตัวกำเนิดกระแสไฟฟ้า ไม่ใช่ขดลวดที่หมุนอยู่ระหว่างขั้วแม่เหล็ก แต่ตัวกำเนิดกระแสไฟฟ้าเป็นสารกึ่งตัวนำที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สารกึ่งตัวนำนี้โดยทั่วไปนิยมผลิตจากสารซิลิกอน ซึ่งเป็นวัสดุที่ราคาถูก ไม่เป็นพิษ และหาได้ง่าย สารกึ่งตัวนำที่ว่านี้ในสภาวะปกติจะเป็นฉนวน หรือเป็นสิ่งที่ไม่นำไฟฟ้า แต่เมื่อได้รับแสงอาทิตย์ ซึ่งมีพลังงานมากพอที่จะไปทำให้อิเล็กตรอนที่อยู่ในอะตอมของซิลิกอนบนเซลล์ แสงอาทิตย์หลุดออกมาจากอะตอม เมื่อจำนวนอิเล็กตรอนหลุดออกมากพอจะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน หรือที่เรียกว่ากระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้จะถูกส่งเข้าสู่ระบบเพื่อการนำไปใช้ต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 ระบบ คือ Grid connected system และ Stand alone system แล้วแต่จะเลือกใช้ระบบใดระบบหนึ่ง หรือใช้ทั้ง 2 ระบบ ก็ได้
สำหรับอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้ทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 ระบบ กล่าวคือ ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Grid connected ซึ่งเป็นระบบที่นำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อใช้งานร่วมกับระบบไฟฟ้าของการ ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีกำลังการผลิตรวม 36.63 กิโลวัตต์ โดยระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Grid connected นั้นสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เฉพาะในเวลา กลางวัน เท่านั้น ส่วนในเวลากลางคืนนั้น อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้ทำการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Stand alone ซึ่งเป็นระบบเก็บพลังงานไฟฟ้า ที่ผลิตได้ในเวลากลางวันไว้ในแบตเตอรี่ โดยมิได้ต่อร่วมกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยกำลังการผลิตรวม 8.325 กิโลวัตต์ ซึ่งอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้นำมาใช้กับระบบไฟฟ้าแสงสว่างบางส่วนของศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และค่ายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
ในพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 8 จุด คือ
- แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ขนาดกำลังผลิตรวม 28.86 กิโลวัตต์ โดยได้ติดตั้ง 2 ระบบ คือ ระบบเชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าของประเทศ (Grid connected) ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 185 วัตต์ ต่ออนุกรมกัน 12 กลุ่มๆ ละ 11 แผง กำลังผลิตรวม 24.42 กิโลวัตต์ และระบบอิสระ (Stand alone) ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 185 วัตต์ ต่ออนุกรมกัน 8 กลุ่มๆ ละ 3 แผง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4.44 กิโลวัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ จำนวน 32 ลูก
- แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ค่ายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ขนาดกำลังผลิตรวม 16.095 กิโลวัตต์ โดยได้ติดตั้ง 2 ระบบเช่นกัน คือ ระบบเชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าของประเทศ (Grid connected) ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 185 วัตต์ ต่ออนุกรมกัน 6 กลุ่มๆ ละ 11 แผง กำลังผลิตรวม 12.21 กิโลวัตต์ และระบบอิสระ (Stand alone) ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 185 วัตต์ ต่ออนุกรมกัน 7 กลุ่มๆ ละ 3 แผง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 3.885 กิโลวัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ จำนวน 24 ลูก
- ชุดโคมไฟส่องถนน (Solar Street Light) ด้านหน้าศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ขนาด 50 วัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ 3 ลูก จำนวน 3 ชุด โคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นโคมไฟที่ใช้สำหรับส่องสว่างบริเวณทางเดิน ถนนเข้าหมู่บ้าน ตรอก ซอย ลานจอดรถ โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ต้องเดินสายและง่ายต่อการติดตั้ง และสามารถเปิดปิดได้เองอัตโนมัติ โดยจะเปิดในเวลากลางคืน 12 ชั่วโมง และปิดในเวลากลางคืน เพื่อประหยัดพลังงาน แม้ในวันที่ไม่มีแสงแดดโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีพลังงานสำรอง สามารถที่จะทำงานให้แสงสว่างต่อเนื่องได้อีก 2-3 วัน
- ชุดโคมไฟจราจร (Solar Traffic Light) ด้านหน้าศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ขนาด 6 วัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ 2 ลูก จำนวน 2 ชุดไฟสัญญาณจราจรกะพริบให้สัญญาณด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ติดตั้งกับเสาเหล็กหรือฐานตั้ง
- แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้สำหรับสูบน้ำเพื่อการฟื้นฟูป่าเบญจพรรณ ติดตั้งบริเวณอ่างเก็บน้ำจืด ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กำลังผลิตขนาด 600 วัตต์ (จำนวน 12 แผงๆ ละ 50 วัตต์)
- แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้สำหรับสูบน้ำเพื่อการฟื้นฟูป่าเบญจพรรณ ติดตั้งบริเวณสนามยิงปืน (เก่า) กำลังผลิตขนาด 500 วัตต์ (จำนวน 10 แผงๆ ละ 50 วัตต์)
- แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้สำหรับสูบน้ำรดน้ำต้นไม้บริเวณสวนป่ามฤคทายวัน (ข้างโรงเรียนสื่อสารฯ) กำลังผลิตขนาด 600 วัตต์ จำนวน 3 แผงๆ ละ 200 วัตต์
- แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้สำหรับสูบน้ำเพื่อการฟื้นฟูป่าบก กำลังผลิตขนาดขนาด 650 วัตต์ (จำนวน 5 แผงๆ ละ 130 วัตต์)